เข้าสู่ระบบ
วันนี้ | 1 | |
เมื่อวานนี้ | 55 | |
สัปดาห์นี้ | 172 | |
สัปดาห์ที่แล้ว | 449 | |
เดือนนี้ | 130 | |
เดือนที่แล้ว | 1609 | |
ทั้งหมด | 169297 |
โดยทั่วไปในการตรวจความปลอดภัยนั้น มีหลักการในการตรวจความปลอดภัยดังนี้ ..
- ตรวจทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป
- ครอบคลุมทั้งสภาพที่ไม่ปลอดภัย และการปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย
- หากพบสภาพที่ไม่ปลอดภัยต้องรีบแก้ไขทันที
- ปกติคนงานมักทราบว่าตรงจุดไหนที่เป็นจุดไม่ปลอดภัย ดังนั้นผู้ตรวจประเมินต้องรับฟังอย่างตั้งใจ
แต่ในการตรวจสถานที่ซึ่งอาจเกิดอุบัติภัยร้ายแรง มักจะเป็นสถานที่ซึ่งมีความสลับซับซ้อน มีกระบวนการที่ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ต้องได้รับดําเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานและขั้นตอนการดําเนินงานเฉพาะ โดยฝ่ายจัดการหรือผู้ออกแบบสถานที่ และผู้ออกแบบกระบวนการ ซึ่งการดําเนินการต่างๆ นี้จะเขียนไว้ในคู่มือปฏิบัติการและมาตรฐานของบริษัท
สถานที่ซึ่งอาจเกิดอุบัติภัยร้ายแรง จะได้รับการออกแบบและก่อสร้างขึ้นด้วยมาตรฐานที่แตกต่างกัน ซึ่งมักจะเป็นมาตรฐานของต่างประเทศ ( ASME, ASTM, AWS, JIS, NACE, ANSI..)การพัฒนาทางเทคโนโลยีทําให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการ วิธ๊การ รวมถึงข้อกําหนดทางด้านความปลอดภัย เป็นผลทําให้คู่มือปฏิบัติการต้องทันสมัยและเป็นปัจจุบันตลอดเวลา
เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ทำการตรวจประเมินจะรอบรู้ถึงมาตรฐานเหล่านี้ทั้งหมด และเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้มาตรฐานเรื่องใดกับส่วนใดของสถานที่ และเป็นไปไม่ได้ที่จะสอบทวนว่าสถานที่ อุปกรร์ได้รับการออกแบบตามมาตรฐาน
หรือไม่ ซึ่งงานส่วนนี้เป็นหน้าที่ของวิศวกรในการออกแบบและตรวจสอบอนุมัติการก่อสร้างตั้งแต่ต้น เช่น สามัญวิศวกร วุฒิวิศวกร
ผู้ทำการตรวจประเมินจะเพียงแต่สามารถตรวจสอบว่าสถานที่ซึ่งอาจเกิดอุบัติภัยร้ายแรงได้ถูกสร้างขึ้น ดําเนินงานและดูแลรักษา ตามที่ได้ออกแบบไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นไปตามคู่มือปฏิบัติการหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยทั่วไปของอุตสาหกรรมหรือไม่
เตรียมการสําหรับการตรวจความปลอดภัยที่มีความเสี่ยงสูง
ผู้ทำการตรวจประเมินต้องศึกษาข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับสถานประกอบการที่มีอยู่ทั้งหมด ก่อนที่จะทําการตรวจ ส่วนหนึ่งที่สําคัญของข้อมูลเหล่านั้นได้แก่ รายงานความปลอดภัย ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ฝ่ายจัดการได้ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานในการสร้างและการดําเนินงานโรงงานไว้ ข้อมูลอื่นเพิ่มเติมอาจได้มาจากใบอนุญาตประกอบกิจการ ระบบเอกสารของการควบคุมอุบัติภัยร้ายแรงและมาจากการพูดคุยล่วงหน้ากับฝ่ายจัดการ บันทึกเกี่ยวกับอุบัติเหตุและมาตรการที่ดําเนินการตามมา
ในการตรวจประเมิน สิ่งสําคัญประการแรกที่จะตรวจสอบ คือความมุ่งมั่นของฝ่ายจัดการในเรื่องความปลอดภัย ตรวจสอบว่าฝ่ายจัดการได้กําหนด นโยบายความปลอดภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ และได้ให้ลูกจ้างรับทราบหรือไม่ ผู้ทำการตรวจประเมินจะตรวจสอบสภาวะการณ์ต่าง ๆ ในสถานประกอบการว่าเป็นไปตามที่ระบุในเอกสารของระบบหรือไม่ ผู้ทำการตรวจประเมินจําเป็นต้อง สอบถามให้รู้แน่ในข้อมูลด้านเทคนิคและด้านองค์กรที่เกี่ยวกับลักษณะ ปริมาณ และอันตรายแฝงเร้นของสารที่ใช้ ปริมาณการกักเก็บของสารอันตราย และกักเก็บภายใต้สภาวะใด กระบวนการที่ดําเนินการ เครื่องมือ และการจัดให้มีความปลอดภัยเช่น ระบบควบคุมฉุกเฉิน (ระบบตรวจจับไฟ ระบบเตือนภัย และดับไฟ ระบบปล่องเผาก๊าซเสีย ระบบระบายความดัน ระบบสครับเบอร์ ระบบการกักล้อมไว้) มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล โครงสร้างของฝ่ายความปลอดภัย และการตอบโต้ต่อเหตุฉุกเฉิน
การตรวจความปลอดภัยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง
เมื่อไปถึงสถานประกอบการ ผู้ทำการตรวจประเมิน อาจรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมจากฝ่ายจัดการ และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางานรวมทั้งผู้แทนลูกจ้าง ผู้ทำการตรวจประเมินควรตัดสินใจว่า จะเริ่มตรวจส่วนใดของสถานประกอบการก่อนและตรวจอะไรต่อไป
ระหว่างการตรวจ ผู้ทำการตรวจประเมิน ควรที่จะเดินสำรวจพื้นที่ไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางาน ผู้ที่ซึ่งจะอธิบายถึงข้อกําหนดเกี่ยวกับความปลอดภัย ผู้แทนของ องค์กรลูกจ้างอาจจะเดินไปพร้อมกับผู้ทำการตรวจประเมินด้วย ผู้ทำการตรวจประเมินจะต้องปฏิบัติตามข้อกําหนดเกี่ยวกับความปลอดภัย ตัวอย่างเช่นสวมหมวกนิรภัย รองเท้านิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ
ในกรณีที่มีพื้นที่ที่ถูกปฏิเสธให้เข้าด้วยเหตุผลในเรื่องความปลอดภัย ผู้ทำการตรวจประเมินจะต้องแน่ใจว่าไม่มีการปฏิบัติการที่ไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นในที่นั้น
ในการตรวจครั้งแรก ผู้ทำการตรวจประเมินจะต้องมุ่งสนใจในส่วนที่สําคัญของสถานประกอบการและในส่วนที่จะมีโอกาสเกิดอุบัติภัยร้ายแรงได้มากที่สุด เช่น ห้องควบคุม บริเวณกักเก็บ สถานที่ขนถ่ายสาร สถานีดับเพลิงระบบป้องกันการแพร่กระจาย
ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของฝ่ายจัดการในเรื่องความปลอดภัย ผู้ทำการตรวจประเมินควรจะเดินรอบบริเวณการผลิตส่วนกลาง เพื่อตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย สถานประกอบการที่ไม่เป็นระเบียบและไม่มีการดูแลที่ดีมักจะไม่มีความปลอดภัย ผู้ทำการตรวจประเมินควรจะตรวจส่วนของพื้นที่โรงงานที่อยู่ห่างไกล ที่ซึ่งฝ่ายจัดการและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางานมักจะไม่ค่อยได้ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณกักเก็บสารอันตราย และระบบป้องกันการแพร่กระจายต่างๆ
ผู้ทำการตรวจประเมินจะต้องตรวจสอบว่า มาตรการ อุปกรณ์ป้องกันและการควบคุมความปลอดภัยต้องมีอยู่พร้อม และอยู่ในสภาพพร้อมทํางานหรือไม่ เช่น อุปกรณ์ความปลอดภัย (Safety relief devices) อุปกรณ์คุ้มครองส่วนบุคคลระบบดับเพลิง ทางหนีฉุกเฉิน ฝักบัวฉุกเฉิน ระบบเตือนภัยเมื่อเกิดอุณหภูมิสูงเกินไป มีความดันมากไป และความเข้มข้นของก๊าซมากเกินไป
ผู้ทำการตรวจประเมินจะต้องตรวจสอบว่าสถานประกอบการ มีระบบการควบคุมแบบอัตโนมัติ(อย่างที่ควรจะเป็น) หรือไม่ หรือมีการปรับเปลี่ยนเป็นการควบคุมโดยคน (โดยไม่เหมาะสม หรือก่อให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น) และตรวจสอบว่ามาตรการ ระบบ อุปกรณ์ความปลอดภัยใด ๆไม่มีการยกเลิก (bypass) หรือไม่มีการตั้งหรือต่อสัญญาณไว้ รวมทั้งตรวจสอบว่าเครื่องมือทุกอย่างทํางานหรือไม่
เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้จะต้องทํางานได้ตามที่ออกแบบ ผู้ดูแลในโรงงงานอาจอธิบายว่าเครื่องมือไม่ได้ใช้งาน ไม่มีความจําเป็นต้องใช้ต่อไป หรือเป็นอุปกรณ์ที่สํารองไว้ ผู้ทำการตรวจประเมินไม่ควรยอมรับคําอธิบายเหล่านั้น ถ้าหากมีเหตุผลว่าอุปกรณ์นั้นไม่จําเป็นแล้ว ก็ควรถอดออกไปทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ในสภาพไม่ใช้งาน ถ้าในระบบความปลอดภัยกล่าวถึงการจัดให้มีอุปกรณ์สํารอง อุปกรณ์สํารองนั้นจะต้องอยู่ในระเบียบการปฏิบัติงานและจะต้องอยู่ในสภาพพร้อมทํางาน ความปลอดภัยของโรงงานจะขึ้นอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้ ถ้ายอมรับอุปกรณ์ที่ไม่ทํางานชิ้นหนึ่ง ก็จะไม่มีเหตุผลที่จะไม่ยอมรับอุปกรณ์ชิ้นอื่น ๆ ที่ชํารุด สุดท้ายจะทำให้มาตรฐานการปฏิบัติงานด้อยลง จนกระทั่งถึงขั้นที่จะทําให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้
การรายงาน
รายงานผลการตรวจจะต้องจัดทําโดยเร็วหลังจากการตรวจ ข้อบกพร่องใดๆ จะถูกแจ้งให้บริษัทราบเพื่อดําเนินการปรับปรุงแก้ไข การปฏิบัติการแก้ไขจะต้องกระทําโดยตรงต่อสาเหตุพื้นฐานของข้อบกพร่องนั้น
ถ้าพบว่ามีอุปกรณ์บางชิ้นในสถานประกอบการทํางานไม่ถูกต้อง จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางาน หรือผู้กํากับดูแลในแผนกนั้นโดยทันที่ ระยะเวลาที่อนุญาติให้ทำการแก้ไขจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่เป็นอยู่ ซึ่งบางกรณีหากจำเป็นต้องหยุดงานในพื้นที่นั้นเพื่อปรับปรุงก็ต้องให้เป็นไปตามนั้น
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทํางาน หรือผู้กํากับดูแลในแผนกนั้น ไม่เพียงแต่ต้องแน่ใจว่าสิ่งที่ตรวจพบว่าไม่ถูกต้องได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ต้องตรวจสอบอุปกรณ์ที่เหมือนกันซึ่งยังไม่ได้ตรวจสอบเพื่อจะได้ดําเนินมาตรการแก้ไขได้ อย่างไรก็ตามถ้าพบว่ามีอุปกรณ์หลายชิ้นขาดหายไปหรือทํางานไม่ถูกต้อง อาจแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยหรือผู้กํากับดูแลในแผนกนั้น ไม่ได้จริงจังกับเรื่องความปลอดภัยของโรงงาน
-
เทคนิคและวิธีการตรวจความปลอดภัยในพื้นที่การทำงานเสี่ยงสูง
.......................................................................... -
แนวทางการจัดทำคู่มือความปลอดภัยในการทำงาน
.......................................................................... -
สัญลักษณ์ของถังดับเพลิงแบ่งตามประเภทของไฟ ตามข้อกำหนดมาตรฐานสากล (มาตรฐาน NFPA 10)
.......................................................................... -
ความปลอดภัยในการทำงานบนอาคารสูง
..........................................................................